เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 15 กรกฎาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,611
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,611
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ก่อนอื่นก็ต้องขอบพระคุณและเจริญพรขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกัน จนกระทั่งการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ ระดับเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ เรียบร้อยลงด้วยดี

    ถ้าท่านทั้งหลายสังเกตจะเห็นว่า ถ้ามาประชุมที่วัดท่าขนุน ส่วนใหญ่แล้วพระสังฆาธิการถ้าไม่ใช่ติดธุระจริง ๆ ก็จะมาประชุมกันทั้งหมด อย่างวันนี้ขาดเจ้าคณะตำบลรูปเดียว ก็คือพระครูอโณทัย (พระครูสถิตกาญจนวงศ์) เจ้าคณะตำบลชะแล เขต ๒ เพราะว่าท่านไปปฏิบัติธรรมตามหลักสูตรของสาขาวิปัสสนาภาวนาที่ประเทศพม่า นอกนั้นก็มากันครบถ้วน

    เรื่องนี้ตอนแรกกระผม/อาตมภาพก็ยังงงอยู่เหมือนกัน เมื่อรับตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้เข้าร่วมประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองอำเภอทองผาภูมิครั้งแรก เดินเข้าไปในศาลาประชุม ปรากฏว่าบรรดาเจ้าอาวาสที่นอนกลิ้งกันเป็นแถว ลุกพรวดพราดขึ้นมา นั่งกันเรียบร้อยหมดเลย..! แล้วการประชุมก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีใครแหกคอก ไม่มีใครโวยวาย

    จนหลวงพ่อพระครูกาญจนเขตวิมล อดีตเจ้าคณะอำเภอ ถึงขนาดออกปากว่า เป็นการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ ที่เรียบร้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา กระผม/อาตมภาพก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า "นามของคน เงาของไม้" ตามสำนวนนิยายกำลังภายในเขาจะมีผลขนาดนี้ ก็คือทำให้ท่านเกรงใจ ขาดประชุมกันน้อยยังไม่พอ ผู้ที่เข้าประชุมก็ยังเรียบร้อยอีกต่างหาก แต่ก็เป็นการดีเหมือนกัน

    คราวนี้ในส่วนอื่น ๆ ที่อยากจะกล่าวถึงก็คือเรื่องของเอกสารคณะสงฆ์ต่าง ๆ ที่เราต้องเตรียมการตั้งแต่บัดนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วจะต้องรายงานทันทีที่การเข้าพรรษาเสร็จเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น
    รายชื่อพระภิกษุสามเณรจำพรรษา รายชื่อพระนวกะปฏิบัติธรรม รายชื่อพระที่เข้าอบรมนักธรรมชั้นตรีก่อนสอบ รายชื่อผู้เข้าสอบนักธรรมชั้นตรี รายชื่อผู้เข้าอบรมนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก และรายชื่อผู้เข้าสอบนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ซ้ำ ๆ กัน แต่ว่าเป็นคนละบัญชี ต้องมีการเตรียมการให้เรียบร้อยไว้ล่วงหน้า พูดง่าย ๆ ว่า เมื่อพ้นวันอาสาฬหบูชา เราต้องสามารถส่งรายงานได้เลย

    แต่ว่าปีนี้เรื่องของรายชื่อพระจำพรรษา กระผม/อาตมภาพจะต้อง "ผิดคิว" เล็กน้อย เพราะว่าจัดให้มีการอุปสมบทหมู่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เจริญพระชนมายุ ๙๒ พรรษา ซึ่งตามโครงการก็คือจะอุปสมบทในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ไปสิ้นสุดโครงการในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗ นี้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,611
    ค่าพลัง:
    +26,464
    คราวนี้ถึงเวลาแล้วเราต้องสอบถามว่า ผู้ที่บวชเฉลิมพระเกียรตินั้น มีท่านใดจะตั้งใจอยู่จำพรรษาบ้าง แม้ว่าเราจะเข้าพรรษามาตั้งแต่วันที่ ๒๐ แล้วก็ตาม ถ้ามีผู้แสดงเจตจำนงจะอยู่ต่อ เราให้ท่านอธิษฐาน "พรรษาหลัง" ได้

    เพราะว่าการอธิษฐานพรรษาหลังนั้น สามารถที่จะอธิษฐานหลังเข้าพรรษาไปแล้วภายใน ๑ เดือน โดยไม่ได้ออกพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่ไปออกพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็คือหลังวันลอยกระทง ๑ วัน สามารถนับอายุพรรษาได้เช่นเดียวกับผู้ที่จำพรรษาแรก แต่ว่าไม่มีสิทธิ์ในการรับอานิสงส์กฐิน ไม่มีสิทธิ์รับอานิสงส์การจำพรรษา เนื่องเพราะว่าอานิสงส์การจำพรรษานั้น ถ้าไม่ได้รับกฐินก็จะสิ้นสุดลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็แปลว่า เราออกพรรษาหลังตรงกับตอนที่อานิสงส์พรรษาหมดลงพอดี

    กระผม/อาตมภาพเองเป็นพระที่ไม่เคยใช้อานิสงส์การจำพรรษา ไม่เคยใช้อานิสงส์กฐินเลย เนื่องเพราะว่าการผ่อนคลายสิกขาบท บางทีก็ทำให้เราประมาทได้ อย่างเช่นว่าถ้าท่านจำพรรษาครบถ้วนไตรมาสแล้วได้อานิสงส์กฐิน ก็จะขยายการผ่อนคลายสิกขาบทหลายข้อไปจนถึงกลางเดือน ๔ ในระยะเวลาหลายเดือนนั้น ถ้าหากว่าเราเคยชินกับการผ่อนคลายสิกขาบท เราก็อาจจะพลาดหลังจากหมดเขตในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ไปแล้ว..!

    สิกขาบทที่ได้รับการผ่อนคลายนั้น กระผม/อาตมภาพก็ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปผ่อน อย่างเช่นว่า "การจาริกไปโดยไม่ต้องถือผ้าไตรไปครบสำรับ" ก็คือมีแค่ สบง จีวร ก็สามารถไปได้ โดยไม่ต้องมีสังฆาฏิไปด้วย สมัยก่อนนั้นลำบากมาก ก็คือต้องฝากเพื่อนพระเอาไว้ แล้วคราวนี้ถ้าเพื่อนพระกับตัวเราไปกันคนละทิศคนละทาง กลับมาภายในขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ แต่หาเพื่อนไม่เจอ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ? ก็ต้องอาบัติผ้าขาดครอง ต้องนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ต้องสละผ้านั้นเสียแล้วไปหาของใหม่..!

    "การจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา" จะว่าไปแล้วก็เป็นการดี เพียงแต่ว่ากระผม/อาตมภาพพิจารณาแล้วว่า อันดับแรกเลยเป็นการเสียมารยาท ไปไหนไม่บอกลาผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไปเป็นตายร้ายดีที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ?

    ประการต่อมาก็คือถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความสามารถ อย่างสมัยก่อนหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลาพระจะออกธุดงค์ก็ไปกราบลาท่าน ท่านจะตามดูแลอยู่ตลอดเวลา ถามว่า "ท่านอยู่กับวัดแล้วไปดูแลได้อย่างไร ?" พระอภิญญาระดับนั้นท่านทำได้อยู่แล้ว ขนาดพระลูกศิษย์เผชิญหน้ากับควายป่ากำลังจะโดนขวิด ท่านกำลังคุยกับโยมอยู่ที่ศาลา บอกโยมว่า "ขอเวลาสักนิด" ท่านหยุดคุยแล้วเอามือตบพื้นกระดานเปรี้ยง..! แล้วก็คุยต่อ บอกกับโยมว่า "ควายป่ากำลังจะขวิดลูกศิษย์ ก็เลยต้องไปขวางไว้หน่อย"
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,611
    ค่าพลัง:
    +26,464
    โยมเขาก็จำได้ พอถึงเวลาพระกลับมา ก็ไปสอบถามว่า "วันนั้นเวลานั้น เจอควายป่าจริงหรือเปล่า ?" พระท่านยืนยันว่า "จริง ควายป่ากำลังจะวิ่งเข้ามาขวิด อยู่ ๆ มีเสียงเปรี้ยงเหมือนฟ้าผ่าขึ้นมา ควายป่าตกใจ วิ่งหนีไปเลย..!" ก็แปลว่าถ้าไม่ใช่คิดที่จะหลบไปทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรม ก็กรุณาลาครูบาอาจารย์ให้เรียบร้อย อย่างของวัดเรา ข้อนี้กระผม/อาตมภาพให้พวกเราบอกลาแล้ว ยังต้องลงสมุดลาด้วยว่าไปทำอะไร

    อานิสงส์ในการ "ฉันคณโภชนาและปรัมปรโภชนาได้" นั้น ถ้าเราพลาดก็ต้องอาบัติอีก คณโภชนาก็คืออาหารที่เจ้าภาพออกชื่อ แล้วพระเราฉันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เพราะว่าสมัยก่อนเวลาพระมหากษัตริย์หรือมหาเศรษฐีเขานิมนต์พระไปฉันทีหนึ่งเป็นร้อย ๆ รูป บางทีก็ถึง ๕๐๐ รูป..! แล้วอาหารบางอย่าง ในชีวิตของพระบางรูปไม่เคยเจอเลย อย่างเช่นข้าวมธุปายาส เพราะว่าถ้าไม่รวยจริงก็ทำไม่ได้..!

    เนื่องจากว่าคนที่จะทำข้าวมธุปายาส อย่างน้อยต้องมีแม่วัว ๕๐๐ ตัว รีดนมจากแม่ตัว ๒๕๐ ตัวแรก เอามาเลี้ยง ๒๕๐ ตัวที่เหลือ แล้วก็แบ่งครึ่งไปเรื่อย ทำในลักษณะนี้จนถึงแม่วัวชุดสุดท้าย นมก็ข้นคลั่กแทบจะเป็นเนยอยู่แล้ว จากนั้นก็เอานมนั้นมาหุงข้าว นอกจากจะรวยจริงแล้วยังต้องมีศรัทธาอีกด้วย ถึงจะทำถวายพระได้ขนาดนั้น พระที่ท่านเป็นปุถุชนได้ยินก็อยากจะฉัน ถึงเวลาเขานิมนต์ก็อาศัยเกาะผู้ได้รับนิมนต์ไปด้วย ไปเกินกว่าที่เจ้าภาพเขานิมนต์ ทำให้เขาลำบากใจยังไม่พอ ยังสิ้นเปลืองอีกต่างหาก พระพุทธเจ้าจึงได้ห้ามเอาไว้เลยว่า "ถ้าเจ้าภาพออกชื่ออาหาร ห้ามฉันเกิน ๔ รูปขึ้นไป"

    สมัยนี้เจ้าภาพหลายรายก็นิยมบอกว่าตนเองจะถวายภัตตาหารอะไร ? โปรดระวังไว้ด้วย หลายวัดก็จะมีโฆษกและพิธีกรประกาศว่า ท่านนั้นเป็นเจ้าภาพอาหารชนิดนี้ ท่านนี้เป็นเจ้าภาพอาหารชนิดโน้น พาพระซวยไปมากต่อมากด้วยกันแล้ว..! กระผม/อาตมภาพถ้าเจอก็หยุดฉันเลย อิ่มหรือไม่อิ่มก็พอแค่นี้แหละ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะโดนอาบัติ..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,611
    ค่าพลัง:
    +26,464
    ส่วนปรัมปรโภชนานั้นเป็นอาหารที่เราฉันจากที่หนึ่ง แล้วไปฉันซ้ำในอีกที่หนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างเช่นว่าช่วงมื้อเช้าหรือว่าช่วงมื้อเพล คำว่า ปรัมปรนั้น ปร (ปะ-ระ) ก็คือ อื่น ๆ ได้แก่ ฉันก่อนและฉันหลังมื้ออื่น เพราะว่าญาติโยมบางท่านมีศรัทธา ถ้าพระฉันของเขาได้มากก็จะชื่นใจ แต่พระฉันจากที่หนึ่งแล้ว ไปฉันซ้ำในอีกที่หนึ่งก็ฉันได้น้อย ทำให้เจ้าภาพที่กำลังใจไม่ดีน้อยใจบ้าง เสียใจว่าตนเองทำอาหารไม่อร่อย พระเลยไม่ฉันบ้าง จึงต้องรอจนกระทั่งได้อานิสงส์กฐิน เราถึงจะฉันปรัมปรโภชนาได้

    อานิสงส์ข้อต่อไปก็คือ "ผ้าที่เกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของเธอ" คำว่าเป็นของเธอก็คือเรากินรวบเป็นเจ้าของคนเดียว ไม่ต้องไปทำวิกัปเป็นสองเจ้าของร่วมกับรูปอื่น ไม่เช่นนั้นแล้วผ้าที่เกินจากผ้าไตรมา เราต้องทำวิกัปกับรูปอื่นเป็น ๒ เจ้าของ ไม่อย่างนั้นแล้วเรามีสิทธิ์เก็บไว้ไม่เกิน ๑๐ วันเท่านั้น แล้วก็อย่าได้ไปอาศัยสิทธิ์ตรงนั้นตุนผ้าไตรจีวรเอาไว้หลาย ๆ สำรับ..!

    ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ กระผม/อาตมภาพพิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปผ่อนคลาย ก็เลยยังถือตามปกติ จะได้ไม่ไปเผลอสติ เพราะว่าตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปถึงกลางเดือน ๔ เป็นเวลาตั้งเกือบครึ่งปี..! ถ้าเราเผลอเมื่อไร เคยชินแล้วก็จะพลาดได้ เพราะคิดว่ายังไม่พ้นกลางเดือน ๔ เราท่านทั้งหลายจึงต้องระมัดระวังเอาไว้ให้มาก อย่างที่กระผม/อาตมภาพบอกพวกเราไปหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า เรื่องของศีลตึงเอาไว้ก่อน พอถึงเวลาเราผ่อนก็จะพอดี แต่ถ้าท่านไปผ่อนตั้งแต่แรก ถึงเวลาไปผ่อนซ้ำก็ยานติดพื้นพอดี..!

    แล้วโดยเฉพาะถ้าเป็นพระใหม่ ศึกษาตำราเล่มเดียวกัน อย่าไปตีความศีลแล้วมาข่มกันเอง จะโดนเพื่อนเตะปากเอา..! อ่านตำรามาเล่มเดียวกัน ศีลข้อเดียวกันแท้ ๆ ดันทะลึ่งทำเป็นว่ากูเคร่งครัดกว่า เขาทะเลาะเบาะแว้งกันมาทุกยุคทุกสมัย จนกลายเป็น "วิวาทาธิกรณ์" ไปแล้ว ก็แปลว่าเรามีหน้าที่รักษาสิกขาบทให้เคร่งครัดเฉพาะตน คนอื่นจะทำอย่างไรเรื่องของท่าน ครูบาอาจารย์มี พระอุปัชฌาย์อาจารย์มี เจ้าอาวาสมี ให้ท่านไปจัดการกันเอง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...